พิธา เปิดบทบาทใหม่ หลังถูกตัดสิทธิ์การเมือง

ภายหลัง ศาลรัฐธรรมนูญ มีมติเอกฉันท์ 9-0 เสียง ยุบ พรรคก้าวไกล ซึ่งเป็นอีกหนึ่งหมุดหมายสำคัญของประวัติศาสตร์การเมืองไทย โดยเป็นผลมาจากคดีที่ คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) มีมติเอกฉันท์เสนอเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งยุบพรรค และตัดสิทธิกรรมการบริหารพรรค 10 ปี

โดยศาลสั่งเพิกถอนสิทธิ์ กรรมการบริหารพรรค ที่ดำรงตำแหน่งตั้งแต่ 25 มี.ค. 2564 – 31 ม.ค. 2567 นั่นหมายรวมถึงคณะกรรมการบริหารพรรคทั้ง 2 ยุคของพรรคก้าวไกล เพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้ง คณะกรรมการบริหารพรรคก้าวไกล เป็นเวลา 10 ปี นับตั้งแต่วันที่ศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่ง

ล่าสุด นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ อดีตหัวหน้าพรรคก้าวไกล ได้โพสต์ข้อความผ่านเว็บไซต์ Medium แจ้งถึงเส้นทางชีวิตใหม่หลังถูกตัดสิทธิ์ทางการเมือง โดยระบุว่า

ก้าวต่อไปของผม กับ บทบาทใหม่ที่มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ดในฐานะ Visiting Democracy Fellow, Harvard University

ผมขอใช้โอกาสนี้ในการประกาศว่า บทใหม่ของผมกำลังจะเริ่มต้นขึ้นที่มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ดในภาคการศึกษานี้ ในฐานะ Visiting Democracy Fellow นี่เป็นโอกาสอันน่าตื่นเต้นที่จะได้ต่อยอดความมุ่งมั่นของผมในการส่งเสริมความเป็นผู้นำและหลักการประชาธิปไตยในภูมิภาคอาเซียน

การกลับมาฮาร์วาร์ดครั้งนี้มีความหมายอย่างยิ่งต่อผม เพราะในช่วงเวลาที่ผมเคยศึกษาที่นี่ ผมได้รับแรงบันดาลใจอย่างมากจากอดีตผู้นำหลายท่านที่มาเป็น Visiting Fellows ที่มหาวิทยาลัย หลังจากที่พวกเขามีบทบาทสำคัญในการเปลี่ยนแปลงประเทศของพวกเขา และมาอาศัยอยู่ที่บอสตันเพื่อสร้างผู้นำรุ่นใหม่โดยไม่แบ่งแยกเชื้อชาติ รวมถึงผมเองเมื่อเกือบ 20 ปีที่แล้ว ในครั้งนี้ ผมรู้สึกเป็นเกียรติอย่างยิ่งที่จะได้เดินตามรอยพวกเขา เพื่อสานต่อวิสัยทัศน์ในการสร้างสังคมที่ดีขึ้น

หนึ่งในสิ่งที่ทำให้การกลับมาฮาร์วาร์ดครั้งนี้มีความพิเศษคือการได้สัมผัสกับมุมมองระดับโลกที่ ฮาร์เวิร์ด นำเสนอ ที่นี่ไม่ได้เน้นเฉพาะประสบการณ์ของอเมริกาเท่านั้น แต่ยังเปิดโอกาสให้ได้เรียนรู้และแลกเปลี่ยนความรู้จากผู้นำและผู้เชี่ยวชาญจากทั่วทุกมุมโลก ทุกทวีป เพื่อมุมมองที่ครบถ้วน รอบด้าน

ในช่วงเวลาของการทำงานที่ฮาร์วาร์ด ผมจะมุ่งเน้นไปที่สองเป้าหมายหลัก:

1. การแบ่งปัน: ผมตั้งใจจะแบ่งปันประสบการณ์ของผมในด้านภาวะผู้นำ การต่อสู้ทางการเมือง ระบบประชาธิปไตย การทำนโยบายสาธารณะและการสร้างการส่วนร่วมของประชาชน ผ่านการคลุกคลีกับคนรุ่นใหม่ทั่วอาเซียนที่ไปเรียนที่ฮาร์วาร์ด ไม่จำกัดแค่นักเรียนคนไทย ผมหวังว่าจะได้ให้ความรู้และความเข้าใจที่ลึกซึ้งยิ่งขึ้นเกี่ยวกับภูมิทัศน์ทางการเมือง ประชาธิปไตย และเศรษฐกิจสังคมของอาเซียนแก่ทั้งนักศึกษา คณาจารย์ และนักวิชาการที่ฮาร์วาร์ด

2. การเรียนรู้: ผมตั้งตารอที่จะได้ดื่มด่ำกับบรรยากาศทางปัญญาอันอุดมของฮาร์วาร์ด ผ่านการสำรวจแนวปฏิบัติประชาธิปไตยทั่วโลกและกลยุทธ์ความเป็นผู้นำเชิงนวัตกรรม เศรษฐกิจ ภูมิรัฐศาสตร์ สังคม สิ่งแวดล้อม และเทคโนโลยีใหม่ๆ ผมตั้งใจจะสะสมความรู้เพื่อเสริมสร้างความสามารถของผมในการแก้ไขปัญหาที่เผชิญในบ้านเกิดของเราในประเทศไทยและที่อื่นๆ

เมื่อการดำรงตำแหน่งทางการเมืองของผมได้สิ้นสุดลงแล้ว ผมมุ่งมั่นอย่างเต็มที่ที่จะใช้โอกาสนี้ในการไตร่ตรองถึงประสบการณ์และความท้าทายที่ผมเคยเผชิญในช่วงเวลาที่ดำรงตำแหน่ง การทำงานด้านการสร้างผู้นำคนรุ่นใหม่ที่ฮาร์วาร์ดในครั้งนี้จะเป็นการแลกเปลี่ยนที่เข้มข้นระหว่างสะสมความรู้ประสบการณ์ด้านการเมืองการปกครองและพบปะผู้นำทั่วโลก เพื่อกลับมาเป็นผู้นำทางการเมืองที่ดีกว่าเดิมเมื่อเวลามาถึง

ผมยังจะเดินทางไปมาระหว่างกรุงเทพฯ และบอสตันเกือบทุกเดือน โดยไม่ทิ้งบ้านเกิดไปนาน วิธีการนี้จะช่วยให้ผมนำข้อมูลเชิงลึกและกลยุทธ์ที่ได้รับจากฮาร์วาร์ดมาปรับใช้ในความพยายามอย่างต่อเนื่องของผมในการพัฒนาประเทศไทยและภูมิภาคอาเซียน

ผมขอขอบคุณสำหรับโอกาสนี้และการสนับสนุนที่ผมได้รับอย่างจริงใจ มาร่วมกันสร้างอนาคตที่สดใสยิ่งขึ้นสำหรับผู้นำรุ่นต่อไปของเรากันเถอะครับ

ด้วยความนับถือ

พิธา ลิ้มเจริญรัตน์